ดูบทความ
ดูบทความคำถามที่พบบ่อย
คำถามที่พบบ่อย
Frequently Asked Questions
หัวข้อที่ 1. เมื่อไหร่ที่ต้องนำผู้ที่ติดยาสารติดเข้ารับการบำบัดรักษา
การนำผู้ป่วยเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ
- ชนิดของสารเสพติดที่ผู้เสพติดใช้ว่าเป็นสารเสพติดประเภทใด ถ้าเป็นชนิดที่เสพติดได้ง่าย เช่น สารเสพติดประเภทเฮโรอีน ฝิ่น ยาบ้า สารระเหย หรือแม้กระทั่งสุรา ก็ควรนำผู้เสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา
- ปริมาณการเสพสารเสพติดมาก – น้อยเพียงใด ถ้าใช้ในปริมาณมากควรเข้ารับการบำบัดรักษา
- ระยะเวลาในการเสพติด มีข้อมูลทางวิชาการพบว่า แม้ผู้เสพติดจะเพิ่งเริ่มใช้ยาเสพติดมาไม่นานก็จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อช่วยลดความบาดเจ็บของสมอง
- สภาพร่างกาย และจิตใจของผู้เสพติด ญาติควรอยู่ใกล้ชิดและคอยสังเกตอาการของผู้เสพติดว่า มีอาการผิดปกติทางร่างกาย และจิตใจหรือไม่ เช่น ร่างกายทรุดโทรม ซีด ผอม หรือเริ่มมีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวผิดปกติ หากผู้เสพติดมีอาการเหล่านี้ต้องรีบนำส่งสถานบำบัดทันที
- ในกรณีที่ผู้เสพติดมีความมุ่งมั่นที่จะเลิกยาเสพติดด้วยตนเอง ที่เราเรียกกันว่า “การหักดิบ” แล้วผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อความทุกข์ทรมานต่างๆ ได้ ควรนำส่งพบแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งอาการขาดยาที่รุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
หัวข้อที่ 2. ต้องการส่งผู้เสพยาเข้าบำบัดต้องทำอย่างไรบ้าง
วิธีการส่งผู้ป่วยเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษามีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1) เตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติ/ผู้ดูแล หมายความว่า ผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจขั้นตอนการบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และที่สำคัญคือต้องใช้ระยะเวลานานตั้งแต่ 4 เดือนถึง 1 ปีในการบำบัด
2) ต้องเตรียมเอกสารที่แสดงตัวตนของผู้ป่วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ และมีรูปถ่ายของผู้ป่วยติดไว้
3) ติดต่อสถานบำบัดรักษาที่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการช่วยเหลือขณะที่ผู้ป่วยอยู่รับการบำบัด
4) ในกรณีที่ผู้ป่วยเสพติดมีสิทธิบัตรทอง บัตรประกันสังคม สามารถใช้สิทธิการบำบัดรักษาได้ในสถานพยาบาลตามที่ระบุในบัตร หากสถานพยาบาลที่ท่านมีสิทธิในการรักษาไม่สามารถให้การบำบัดรักษาได้จะมีระบบการส่งต่อไปรักษาต่อเนื่องในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพที่สูงกว่า
หัวข้อที่ 3 . ผู้ติดยาเสพติดไม่ยอมรับว่าตนเองติดยา และไม่ยอมเข้ารับการบำบัดรักษาจะทำอย่างไร
ในกรณีนี้เป็นกรณีที่พบบ่อย ขอให้ผู้ปกครองใช้ความรัก ความเข้าใจในการช่วยเหลือ โดยขอให้พูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ควรใช้อารมณ์ในการพูดคุย หรือตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรง เพราะจะสร้างแผลใจให้กับผู้เสพติดได้ ควรพูดคุยให้ผู้เสพติดเห็นถึงโทษพิษภัยของการใช้ยาเสพติด และลองให้ผู้ป่วยประเมินตนเองว่าขณะนี้ตนเองมีสุขภาพร่างกาย และจิตใจเป็นอย่างไร และในมุมมองของญาติเห็นว่าตอนนี้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร สิ่งที่ญาติหลายคนเห็นว่าผู้ป่วยมีสุขภาพที่เปลี่ยนไป จึงจะขอให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อสุขภาพตรวจร่างกาย และหากแพทย์เห็นว่าควรได้รับการบำบัด ญาติต้องให้กำลังใจ และควรบอกเล่าให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า การบำบัดรักษาจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยและครอบครัวอย่างไร
หัวข้อที่ 4. การบำบัดรักษาผู้เสพติดจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หรือไม่
การบำบัดรักษาผู้ป่วยเสพติดมี 2 รูปแบบ คือ
1) การรักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นการรักษาที่ไม่ต้องนอนค้างในโรงพยาบาล แพทย์เป็นผู้ให้การรักษาทางยา ส่วนพยาบาลหรือนักบำบัดในทีมสุขภาพจะเป็นผู้ให้การบำบัดทางจิตสังคม แพทย์จะนัดพบตามระยะที่กำหนด ใช้ระยะเวลาการบำบัดใช้เวลานาน 4 เดือน เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีระบบการติดตามหลังการบำบัดรักษานาน 1 ปี เพื่อติดตามพฤติกรรมและป้องกันการเสพติดซ้ำ จากรายงานทางวิชาการพบว่า หากผู้ป่วยเสพติดใช้ยาเสพติดมาไม่นาน ยังไม่มีโรคแทรกซ้อนทางกายและจิต ญาติให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาดี การบำบัดรักษาในรูปแบบนี้จะให้ผลดีเช่นกัน
2) การบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยใน เป็นการบำบัดรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาเสพติดในปริมาณมาก และใช้ยามานาน จนมีอาการแทรกซ้อนไม่ว่าจะเป็นอาการทางกาย หรือทางจิต การบำบัดใช้ระยะเวลา 4 เดือนเช่นกัน เพราะมีหลักฐานทางวิชาการที่เชื่อว่า สมองของผู้เสพติดจะสามารถฟื้นคืนหายได้ เมื่อได้รับการบำบัดฟื้นฟู และไม่ใช้ยาเสพติดนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป
ที่มา: สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี
03 ตุลาคม 2562
ผู้ชม 34207 ครั้ง